เวลา : ใช้เวลาเดียวกันกับประเทศไทย
การเดินทางไปลาว :
หากเดินทางด้วยรถยนต์สามารถเข้าได้ที่ด้านพรมแดน 5 จังหวัดนี้
1. จังหวัดเชียงราย (เชียงของ – ห้วยทราย)
2. จังหวัดหนองคาย (สะพานมิตรภาพไทย-ลาว – นครหลวงเวียงจันทน์)
3. จังหวัดนครพนม – ท่าแขก
4. จังหวัดมุกดาหาร – สะหวันนะเขต
5. จังหวัดอุบลราชธานี (ด่านช่องเม็ก – วังเต่า)
ระเบียบการเข้าเมือง : คนไทยที่ต้องการไปท่องเที่ยวใน สปป.ลาว. สามารถใช้หนังสือเดินทาง (ที่อายุการใช้งานเหลืออยู่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน) เดินทางเข้า สปป.ลาว โดยไม่ต้องขอวีซ่า ได้ไม่เกิน 30 วัน และหากต้องอยู่นานเกิน 30 วัน จะต้องขอวีซ่าจากสถานทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ของลาว ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทยโดยเสียค่าธรรมเนียม 600 บาท
ในกรณีที่ต้องเดินทางเร่งด่วนและไม่ได้ขอวีซ่าจากสถานทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ลาว สามารถขอวีซ่าประเภท Visa on Arrival ที่ด่านสากลลาวได้
สกุลเงิน : สกุลเงินของประเทศลาวคือ กีบ ธนบัตรจะแบ่งออกเป็นใบละ 1,000 กีบ, 2,000 กีบ, 5,000 กีบ, 10,000 กีบ และ 20,000 กีบ ไม่มีเงินเหรียญ
ภาษา : ภาษาประจำชาติคือ ภาษาลาว คนลาวบางส่วนยังสามารถใช้ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศสได้ดี และคนลาวในเมืองส่วนใหญ่สามารถฟังภาษาไทยได้ นักท่องเที่ยวสามารถใช้ภาษาไทยสื่อสารได้
อาหาร :
- หากเที่ยวหรือพักริมแม่โขง อย่าลืมทานเมนูปลา ที่มีให้เลือกหลากหลายแบบ อร่อยถูกปากแน่นอน
- ไปถึงลาวแล้วห้ามพลาด แป้งจี่ แซนวิชสูตรลาวที่ใช้ขนมปังบาแก๊ตแบบฝรั่งเศส ใส่ไส้หลายอย่างทั้งหมูสับ หมูแดง แฮม ตับบด ไก่ทอด ไข่ดาว และผักต่างๆ ราคาอยู่ที่ประมาณอันละ 10,000-20,000 กีบ
- เฝอที่หลายๆคนรู้จักกันดี หาทานง่าย มีทั้งหมู ไก่และเนื้อวัว น้ำซุปอร่อยจนแทบไม่ต้องปรุงเพิ่ม แต่ถ้าชอบรสจัดจ้านก็ลองใส่ซอสพริก (ซอสพริกศรีราชาของไทย) จะอร่อยยิ่งขึ้น ราคาประมาณ 10,000 กีบ
- น้ำขวด น้ำชาเขียว หรือขนมทานเล่นที่ขายในร้านสะดวกซื้อหรือร้านข้างทางจะมีราคาแพงกว่าที่ขายในไทย เพราะส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่นำเข้าไปจากประเทศไทย
โทรศัพท์ : สามารถขอเปิดโรมมิ่งจากเครือข่ายโทรศัพท์ที่ใช้อยู่ หรือซื้อซิมลาวแบบเติมเงิน จะไปแวะซื้อที่เวียงจันทน์ ห้วยทราย(ถ้าเข้าทางเชียงของ) หรือซื้อจังหวัดที่ติดกับลาว ก็จะมีซิมลาวและบัตรเติมเงินลาวขายเหมือนกัน การโทรจากลาวมาไทยราคาประมาณนาทีละ 5 บาท
กระแสไฟฟ้า : ไฟฟ้าในลาวและไทยใช้ขนาดเท่ากัน และปลั้กไฟเป็นแบบเดียวกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น